อาชีวศึกษาเกษตร จัดทัพสู่ Digital Farming

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดูแลวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรและการประมง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชน เกษตรกรและชุมชน ยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนไปสู่ Digital Farming

อย่างไรก็ตาม การนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรให้มากขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ย และป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ การสร้างการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อนําข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการทํางานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและการประมง จึงจําเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคี เครือข่ายจากสถานประกอบการ สมาคมศิษย์เก่า กรรมการสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ 2563 ในระดับอาชีวศึกษา โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลขับเคลื่อนอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง

ทั้งนี้ยังมุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ สอศ.ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาเกษตร การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ทั้งในระดับ ปวช. ปวส.และระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ได้สร้างความร่วมมือและสร้างเป้าหมายร่วมกันกับเครือข่ายเพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาร่วมกัน โดยมุ่งการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรท รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่การจัดการฟาร์มที่ทันสมัย

ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “จัดทัพสู่ Digital Farming” เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปสู่เป้าหมายร่วมกันกับ Stakeholders และเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Digital Farming

การประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การปฏิรูปอาชีวเกษตรสู่ Digital Farming และเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจไอที การแบ่งกลุ่มย่อย และการนำเสนองานกลุ่มเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง ทั้ง 47 แห่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ ครูหัวหน้าฟาร์ม ประธานกรรมการวิทยาลัย ตัวแทนศิษย์เก่า ตัวแทนสถานประกอบการ และ Smart Farming รวมทั้งสิ้น 400 คน

เลขาธิการ กล่าวว่า “สถาบันอาชีวเกษตรทั้ง 4 ภาค มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมวิชาชีพของวิทยาลัยในสังกัด ได้ให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีทั้งในระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จึงได้สร้างความร่วมมือและสร้างเป้าหมายร่วมกันกับ Stakeholders เพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาร่วมกัน และเพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในการมุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชนภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Digital Farming ตอบสนองนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ”
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. / 29 ก.พ. 63

ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์