เฉลิมชัย”ตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบสินค้าเกษตรจาก COVID-19 เพื่อเฝ้าระวังและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อจากไวรัส COVID-19 ที่จะเกิดขึ้นต่อสินค้าเกษตรน้อยที่สุด พร้อมกำหนดมาตรการสินค้าเกษตรปลอดภัย สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้ตั้งศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวังผลกระทบสินค้าเกษตรจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 โดยให้ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวลง พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนปฏิบัติการรับมือและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งรายงานต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้หลังจากประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน กระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานถึงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อผลผลิตด้านการเกษตรที่ส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ว่า ยอดสั่งซื้อลดลง อีกทั้งด่านศุลกากรที่เข้าจีนมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจกักกันคนและสินค้าเข้า-ออกมากขึ้นทำให้กระบวรการนำสินค้าเข้า ล่าช้า
นอกจากนั้นมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินผลกระทบจากโรคดังกล่าวทั้งด่านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การนำเข้า ปัจจัยการผลิต การผลิต การบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น ตลอดจนวิเคราะห์แนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกไม้ผลซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย
นอกจากนี้ยังมีไม้ดอกส่งออกสำคัญคือ กล้วยไม้ โดยทางกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์หาตลาดส่งออกใหม่ รณรงค์เพิ่มการบริโภคในประเทศ (Eat Thai First) โดยกำลังประสานภาคเอกชนจัดงานจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพในที่ต่างๆ ส่งเสริมการจำหน่ายทางออนไลน์ เน้นการแปรรูปผลผลิต เป็นต้นเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรเข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าเกษตรทั้งที่ส่งออกและนำเข้า จะต้องมีการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสากลเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคชาวไทยกังวล ขณะเดียวกันประเทศอื่นอาจกังวลการแพร่ระบาดและมีมาตรการสกัดการนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งขณะนี้สศก. เร่งกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตรอยู่
“ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าเกษตรเพราะสั่งการให้ดูแลใกล้ชิด การที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ได้เป็นเพราะมีความผิดปกติใดๆ แต่เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร กรณีที่การระบาดของโรคในทุกภูมิภาคทั่วโลกไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรและผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อีกทั้งยังจะเผยแพร่ข่าวสาร และชี้แจงข้อกังวลใจของผู้บริโภคได้ทันท่วงที มิให้เกิดความตระหนกตกใจ” นายเฉลิมชัยกล่าว
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน