สภาเอสเอ็มอีส่งผู้แทนไปยื่นหนังสือถึงที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งผ่านไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. นำเสนอผลการสำรวจและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในภาพรวม ความเดือดร้อนของกลุ่มเซรามิกลำปาง และธุรกิจการหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ
15เม.ย.2563 สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) มอบหมายให้ นายวรวุฒิ ชิระนุรังสี ผู้จัดการสภาเอสเอ็มอี (นักศึกษาสถาบันการสร้างชาติ รุ่นที่ 10) เป็นผู้แทนไปยื่นหนังสือถึง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำนายกรัฐมนตรี ส่งผ่านไปยัง ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จำนวน 3 ฉบับ ณ ศบค. เพื่อสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้จากการสำรวจพร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา SMEs ที่ได้รับผลกระทบ โดยในแต่ละฉบับมีรายละเอียด ดังนี้
ฉบับที่ 1 นำส่งข้อเสนอจากการสำรวจสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสู้วิกฤตโควิด-19 โดย “สภาเอสเอ็มอี” เสนอผลสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 60 ของ SMEs มีรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี และมีการจ้างงานรายละไม่เกิน 25 คน กว่าร้อยละ 45 อยู่ในกลุ่มธุรกิจปัจจัยสี่ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการเกษตร ซึ่งมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือลำดับแรก คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาด ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนระบบธนาคารได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลไกพิเศษในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่มีการแจกเงินช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ เสนอมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้
1.จัดลำดับความสำคัญในการส่งความช่วยเหลือด้านการเงินทีไม่ใช่ระบบธนาคารไปยัง SMEs รายเล็กที่อยู่ในกลุ่มปัจจัยสี เนื่องจากกลุ่มนี้ครอบคลุมจำนวนประมาณร้อยละ 90 ของ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารได้ โดยเริ่มต้นจากการใช้งบประมาณของจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดเบิกจ่ายโดยตรงทันทีผ่านไปยังหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ สมาคม วิสาหกิจชุมชน คลัสเตอร์ธุรกิจต่างๆ เป็นต้น ด้วยระบบคัดกรองที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อบรรเทาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในเบื้องต้น เมื่องบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม 400,000 ล้านบาท อนุมัติก็สามารถส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านกระบวนการดังกล่าวได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้ฐานข้อมูล SMEs รายจังหวัดทั่วประเทศไปในคราวเดียวอีกด้วย
2.เนื่องด้วย COVID-19 จะเป็น Economic Restarting ทั้งโลกจะกลับมามองหาปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอาหาร ดังนั้น จึงต้องเร่งให้เกิดการสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปในระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)
ทั้งนี้ สภาเอสเอ็มอีจะขยายเวลาการสำรวจออนไลน์ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อขยายผลไปยังภูมิภาคผ่านภาคีเครือข่าย และประธานจังหวัด ที่ลิ้งค์ https://qrgo.page.link/Afguc
ฉบับที่ 2 นำส่งข้อมูลผลกระทบและเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการจังหวัดลำปางจากวิกฤตโควิด-19 โดย “สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง” ในนามของตัวแทนผู้ประกอบการจังหวัดลำปางที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกคนสั่งซื้อมูลค่ากว่า 100,000,000 บาท จากสถานประกอบการกว่า 100 ราย ที่มีการจ้างแรงงานกว่า 3,000 คน เสนอมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1.ขอให้รัฐช่วยจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน
2.ขอให้รัฐจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเป็นเวลา 3 เดือน
3.ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานช่วยบรรเทาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างในช่วงนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการและลูกจ้างสามารถตกลงกันได้ในเรื่องการหยุดงาน
4.ขอให้ภาครัฐช่วยสางเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในรอบ 6-12 เดือน โดยการพิจารณาจากตั๋ว P/N วงเงิน OD หรืองบกระแสเงินสดย้อนหลัง 3 ปี โดยขอเป็น Green Loan
5.ขอให้รัฐจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบปัญหาที่อยู่ในระบบประกันสังคมครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่ยื่นประจำ หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท
6.กรณีของกิจการที่ถูกคำสั่งของภาครัฐให้ปิดกิจการ ขอให้ผู้ประกอบการสามารถไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามหลัก “No Work No Pay” และลูกจ้างขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานได้
ฉบับที่ 3 นำส่งข้อมูลผลกระทบและเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศจากวิกฤตโควิด-19 โดย “สมาคมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ” ในนามตัวแทนของกลุ่มธุรกิจซึ่งมีอยู่จำนวน 132 บริษัท มีการจ้างงานประมาณ 1,000 คน แต่เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจการได้เพราะการระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศชะลอการนำเข้าแรงงานไทย แต่บริษัทยังต้องแบกรับภาระการจ้างงานไว้เต็มจำนวนด้วยการทำงานที่บ้านตามนโยบายรัฐ เนื่องจากรัฐไม่ได้ประกาศให้หยุดกิจการ เสนอมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในธุรกิจนี้ ดังนี้
1.หากมีคำสั่งให้ธุรกิจใดหยุดกิจการ ขอให้พิจารณาธุรกิจการจัดหางานไปต่างประเทศด้วย เพื่อให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบสามารถใช้สิทธิ์รับความช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมได้
2.สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง
3.ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาลดเงินค้ำประกัน จาก 5,000,000 บาท เป็น 2,000,000 บาท เพื่อลดภาระของบริษัท และเป็นการเสริมสภาพคล่องอีกทางหนึ่งในระยะเวลา 2-3 ปี
4.มาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐเห็นสมควร
ในการนี้ นายสุภรณ์ ได้รับหนังสือพร้อมรับฟังข้อมูลโดยสรุปจากสภาเอสเอ็มอี แล้วแจ้งว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีต่อไป
WC รายงาน