‘สภาเอสเอ็มอี’ชงมาตรการเร่งด่วนช่วย SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

สภาเอสเอ็มอีจัดประชุมสรุปผลการสำรวจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในสถานการณ์ไม่ปกติ

วันที่ 17 เมษายน 2563 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) จัดประชุมคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาผ่านระบบ VDO Conference ตามนโยบาย Social Distancing สรุปผลสำรวจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมยื่นข้อเสนอไปถึงรัฐบาลในระยะสั้นและหลังจากวิกฤต (Post Covid-19) ดังนี้

  1. เสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการ SMEs ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง 75% เป็นเวลา 3 เดือน ตามฐานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อพยุงกิจการของผู้ประกอบการ SMEs และจ่ายเงินช่วยผู้ประกอบการในอัตรา 25% ของเงินที่บริษัทได้ชำระผ่านระบบประกันสังคม (ที่ไม่ใช่เงินกู้)
  2. เสนอให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขในการพิจารณาให้สินเชื่อ โดยพิจารณาจากประวัติการกู้ยืมเงินเดิมของลูกค้าธนาคาร แล้วพิจารณาให้วงเงินเพิ่มเติมโดยไม่ต้องยื่นเรื่องใหม่ จากอัตราส่วนเงินกู้เดิมที่ชำระแล้ว
  3. เสนอให้รัฐใช้กลไกงบประมาณจังหวัดผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในการให้เงินช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของ SMEs ซึ่งส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารได้
  4. เสนอให้เลื่อนการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ออกไป 6 เดือน โดยอัตโนมัติ สำหรับแรงงานฝีมือต่างชาติและแรงงานไร้ฝีมือ ที่ไม่สามารถกลับไปต่ออายุได้ตามระยะเวลาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
  5. เสนอให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบนำค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤต 6 เดือน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรการลดหย่อนด้านภาษี)
  6. เสนอให้รัฐเน้นให้การช่วยเหลือ SMEs ด้านธุรกิจการเกษตรและอุปโภคบริโภค (สินค้าปัจจัยสี่) เพื่อให้รักษาและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหารของโลก (หลังโควิด-19) ทั้งกลุ่มปกติและกลุ่มเฉพาะ เช่น ฮาลาล โคเชอร์ เป็นต้น

ในการนี้ สภาเอสเอ็มอีขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่อย่างหนักในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และหวังว่าประชาชนชาวไทยทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

WC รายงาน